LEICA M11
- Paron Chatakul
- Aug 23, 2023
- 4 min read
Updated: Apr 3
“รวม ๆ แล้วนึกไม่ออกว่าชอบหรือไม่ชอบมัน”
สวัสดีครับ ผมได้ Leica M11 มาครอบครองแล้วครับ เฮ..... กล้องดิจิทัลรุ่นล่าสุดจากไลก้า ได้ลองเล่นลองถ่ายไปพอสมควรแล้วจึงอยากมาแชร์ว่ามันมีข้อดี ข้อจำกัดอะไร ลองมานั่งคุยกันครับว่ามันคุ้มค่าพอจะให้จับจองมาเป็นเจ้าของกันไหม เขียนไปเขียนมารีวิวนี้อาจยาวหน่อยนะครับ พยายามแยกไว้ให้เป็นหัวข้อ ๆ และเขียนให้รวบรัดเพราะมีประเด็นเยอะจริง ๆ สำหรับกล้องรุ่นนี้ครับ

1. หลังจากที่เขียนรีวิว Leica M10 ไปเมื่อหลายปีก่อน (https://paronya.wixsite.com/paronya/single-post/2018/06/15/leica-m10) ว่าเป็นการก้าวกระโดดทางการออกแบบ Leica M ที่ปรับขนาดของกล้องมาอยู่ในร่องในรอย ไม่อ้วน หนาใหญ่อีกต่อไปแล้ว มาถึง Leica M11 งานออกแบบขนาดของกล้องภายนอกจึงนิ่งแล้ว แทบไม่เปลี่ยนเลยครับ เพราะฉะนั้นการจับถือ ขนาด หลายท่านคงได้ทดลองกับ Leica M10 กันมาบ้างแล้ว ก็ต้องบอกว่าไม่แตกต่าง สิ่งที่ต่างกันคือตำแหน่งของไฟ LED แสดงสถานะ ย้ายไปอยู่เป็นจุดเล็ก ๆ ตรงเป็นควบคุมด้านขวาและอีกดวงทางด้านล่างของกล้อง ซึ่งเป็นการออกแบบที่ใส่ใจรายละเอียดดี ใช้แล้วไฟไม่แยงตา ปุ่ม fn ปุ่มเมนู และเพลทล่างของกล้อง แสดงให้เห็นว่าภาพรวมของกล้องที่เหมือนเดิมคือดีแล้ว (?) และตรงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ยังไม่ดี ก็ออกแบบแก้ไขเสียใหม่ แปลว่าเขาคิดนะ ไม่ได้ก๊อปปี้ M10 มาทั้งดุ้น ถ้าอีกหน่อยทำอะไร ๆ ได้เล็กกว่านี้แล้วได้เห็นกล้องไลก้าดิจิทัลในร่างของ Leica III ก็คงจะน่าสนใจไม่น้อย

2. ความน่ารักของกล้องไลก้าตั้งแต่ M10 เป็นต้นมาคือไม่มีตัวอักษร M ใหญ่ ๆ อยู่ด้านหน้ากล้องแล้ว สลักไว้แค่ตัวเล็ก ๆ ที่ฮอตชู ผมว่าแค่นี้พอแล้วครับ หล่อแล้ว สวยแล้ว ลงตัวแล้ว กล้องดิจิทัลเดี๋ยวก็เก่าไม่ต้องโชว์มากก็ได้ ^_^
3. ด้านล่างของกล้องที่ว่าได้รับการออกแบบใหม่ทั้งหมดคือ Bottom plate ที่สุดแสนคลาสสิกได้จากเราไปเรียบร้อย ด้านล่างของกล้องเปิดออกไม่ได้อีกต่อไป หลายคนชอบ เพราะสะดวก แบตเตอรี่ ก็เอาออกง่ายเหมือนพวก SL ส่วน SD card ก็เก็บไว้ในช่องเดียวกัน ส่วนคนที่ไม่ชอบก็คงเป็นเรื่องอารมณ์และความรู้สึกคลาสสิกของกล้อง ส่วนตัวผมว่าตรงนี้ก็ดีนะครับ มันถึงเวลาที่ M จะก้าวต่อไปข้างหน้าและปรับตัวเข้ากับยุคสมัย โดยเอาข้อดีของการใส่แบตเตอรี่แบบไม่ต้องเปิดฝาของพวก SL มาใช้ แต่ส่วนที่ผมว่าจุดที่ยังไม่ดีก็มีเหมือนกันคือ ถ้าตูดกล้องมันถลอกเละเทะจากการใช้งาน หาอะไหล่มาเปลี่ยนให้มันใหม่เอี่ยมไม่ได้นะเออ และเรื่องสำคัญคือ port USB-C ที่มันเป็นรูโล้น ๆ แบบนั้น มันเก็บฝุ่นเก็บความชื้น กล้องมันจะกลายเป็นกล้องสำอางค์ไป จะมาลุคช่างภาพสงครามแบบสมัยก่อนคงไม่น่ารอด

4. อ๋อ มันมี Half case ของ Leica official วางขายด้วยในชื่อ Protection case แหม่นี่ Leica นะ นึกว่า Apple

5. ผิวสัมผัสตัวกล้อง สาก หยาบ ไม่ได้ใกล้เคียงกับคำว่า Black paint finish ที่เขียนข้างกล่องเลยครับ แต่ไลก้าเคลมว่ามีเทคนิคป้องกันร่องรอยการขูดขีดขนแมวได้ดี ส่วนตัวผมว่าผิวมันค่อนข้างคล้ายกับตัว M10 reporter มาก ๆ แค่คนละสีเท่านั้น อันนี้ก็ต้องลองใช้กันต่อไปครับ แค่คิดว่าถ้ากันรอยได้เจ๋งจริงก็อย่าทำ Protection case มาขายสิครับ ฮ่ะ ๆ ๆ แล้วถามว่าซื้อไหมไอ้เคสอันนั้นน่ะ อ่อ... ก็ซื้อสิครับ ฮ่ะ ๆ ๆ เคสหนังชิ้นเดียวราคาห้าหลัก ทำกล้องให้หนักและใหญ่ขึ้น ทำไมมันดูย้อนแย้งกับที่เขียน ๆ มายังไงชอบกล
6. ปุ่มหมุนปรับ ISO ผมยังขอคงความเห็นเดิมจาก M10 เลยนะครับว่าควรออกแบบกายภาพใหม่ให้ตอบรับกับ ISO ที่ดันไปได้สูง ๆ ให้ได้มากกว่านี้ M11 มีให้เลือกหมุนแค่ 64 200 400 800 1600 3200 6400 M และ A ส่วนที่เกิน 6400 ขึ้นไปต้องไปปรับเอาในเมนูแทน ซึ่งผมมองว่าไม่เรียล ไม่มีสัจจะของการออกแบบระบบกลไกครับ ทีมออกแบบน่าจะพิจารณาทบทวนแล้วหานวัตกรรมใหม่ ๆ มาให้ M ได้แล้วอย่ายึดติดกับรูปลักษณ์เดิม ๆ ให้มากนัก

7. ปุ่ม Fn ย้ายจากด้านหน้ามาไว้ด้านบนเหมือน M60 ผมสะดวกมากเลยเพราะชิน ส่วนตัวผมว่าทำให้กล้องดูเรียบร้อยมากขึ้นกว่า M10 นะครับ ส่วนใครชอบแบบเดิมอันนี้ก็แล้วแต่รสนิยมส่วนบุคคลครับ
8. สายคล้องคอที่แถมมาเป็นสายหนัง อันนี้ตามธรรมเนียม เก็บไว้เหมือนเดิมนั่นแหละครับ หน้าตามันดูดีอยู่นะแต่ไม่ได้ใช้ ฮ่ะ ๆ ๆ
9. น้ำหนัก เรื่องนี้สำคัญนัก ผมเลือก Leica M11 สีดำมาเพราะน้ำหนักที่เบากว่าอย่างเห็นได้ชัด ห้อยคอนาน ๆ ได้ สบายมาก ๆ (Leica M11 ทำสีเงินกับดำออกมาด้วยวัสดุที่แตกต่างกัน สีเงิน Top plate จะเป็นทองเหลืองแบบดั้งเดิม คลาสสิก หนัก (640g) ส่วนสีดำจะเป็นอลูมิเนียมทำให้น้ำหนักเบากว่ามาก (530g)) บางคนคิดว่าขีดเดียวเองจะอะไรหนักหนา แต่เมื่อได้ลองจับจริง ๆ แล้วมันต่างกันมากพอสมควรเลยครับ เอ้า เบาแล้วข้อดีข้อเสียของมันก็มีอยู่นะ กล้องเบา ๆ เอาไปใช้กับเลนส์หนัก ๆ เช่นผมเอาไปติดกับ Summilux 1.4/35 FLE edition 60 ที่เป็นสเตนเลสทั้งดุ้น มันหนักหน้าไปเลยใช้แล้วไม่ค่อยสมดุลไม่ค่อยถูกใจ ถอดเลนส์นอนตู้ไปเรียบร้อย แต่ถ้าใช้กับเลนส์เล็ก ๆ พวก Summicron หรือเลนส์เก่า ๆ นี่โอ้โห สวรรค์ ครับ เบา มันส์ ห้อยคอไปไหนได้สบาย ๆ (ถ้าไม่เจอโจร)

10. เมนู ขอแตะ ๆ ไว้นิดนึงว่ารูปแบบของปุ่มและเมนู เหมือนกับพวก SL2 และ SL2-S เลยครับ ใครที่คุ้นเคยอยู่แล้วสบายใจใช้ง่ายแน่นอน ส่วนคนที่ไม่คุ้นเคยก็ยังสามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากครับ

11. แบตเตอรี่ของ Leica M11 นี่ รักเลยครับ ขนาดเดิม ๆ 1800 mAh เท่ากับ M10 และ M(240) แต่อึดกว่ามาก ๆ สมัยก่อนที่ผมไม่ได้ตกลงปลงใจไปกับ M10 เพราะเรื่องแบตเตอรี่หมดไวก็เป็นส่วนหนึ่ง เคยใช้กล้องไร้จอมาแล้วแบตมันอึดถึกทนมาก ๆ ใช้งานกันได้นานจนลืม ซึ่งตรงนี้ M11 ทำได้ดีมาก ๆ นะครับใช้ได้นานขึ้นมากจนรู้สึกสบาย ๆ ไม่ต้องกังวลเรื่องแบตจะหมดกลางคันหรือจะต้องมีแบตสำรองแต่อย่างใด ถือว่าพอใจมากครับ และที่ชาร์จแบตก็น่ารักน่าชัง ขนาดไม่ใหญ่โต วางแล้วเอาแบตเสียบ เสร็จ สวยงามเหมาะสม แถมฉุกเฉินก็ยังชาร์จด้วย USB-C ได้อีกด้วย เอา ๆ ดี ๆ

12. ประเด็นเรื่อง M11 ที่สามารถถ่ายภาพได้ความละเอียดถึง 60 MP จะมีผลเวลาใช้กับเลนส์เก่า ๆ ของไลก้าหรือไม่ ประเด็นนี้ผมเชื่อว่าโดยรวมไม่ได้มีผลเสียกับภาพเลยครับ ในการใช้งานภาพขนาดใหญ่มาก ๆ ยิ่งเซนเซอร์ละเอียดก็ยิ่งดี ถ้าใช้งานภาพที่เล็กลงมาอย่างน้อยที่สุดก็ไม่แย่ลงกว่าเซนเซอร์ที่มีความละเอียดน้อย (ไม่นับรวมเรื่องจุดรบกวนในภาพที่มีมากน้อยไม่เท่ากันใน ISO สูง ๆ) เจ้า M11 นี่ผมได้ลองแล้วกับเลนส์ที่เก่าสุดเท่าที่มีและราคาถูกสุดด้วย คือ Leica Summaron 3.5/35 ที่ออกสู่ตลาดตั้งแต่ปี 1948 ภาพที่ถ่ายออกมายังคมกริ๊บ เชื่อแล้วว่าสิ่งที่ไลก้าเคยพูดเมื่อ 10 ปีก่อนว่าไม่จำเป็นต้องออกเลนส์อนุกรมใหม่สำหรับกล้องดิจิทัลเพราะเลนส์เก่า ๆ ของไลก้ามีกำลังแยกขยายเหลือเฟือเป็นเรื่องจริง วันนี้พิสูจน์แล้วที่ 60 MP ยังสามารถใช้งานได้สบาย ๆ ครับ หายห่วง ส่วนเลนส์บางตัวหรือเลนส์จากค่ายอื่น ๆ ที่คาแรกเตอร์ที่ f กว้างสุดไม่คมนัก ภาพขนาดใหญ่เมื่อดูในจอปกติย่อมไม่ต่างกัน แต่มันจะฟ้องเมื่อซูม 100% ไม่คมคือไม่คมแบบเห็นได้ชัด ถามว่าจะมีปัญหากับการใช้งานอะไรไหม ถ้าถ่ายมาแล้วใช้ภาพขนาดเดิมเลยผมว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้านำภาพนั้นมา Crop เพื่อไปใช้งานต่อจะเห็นความไม่คมชัดเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้แน่นอนครับ (แต่อย่างไรก็ยังให้คุณภาพดีกว่าถ่ายภาพด้วยเซนเซอร์ที่ละเอียดน้อยแล้วมาครอปอีกอยู่ดี)

Leica M11 + Leica Summaron 3.5/35
Leica M11 + Leica Summilux 1.4/35 FLE edition 60
13. ยกตัวอย่างให้ดูกับเลนส์ไลก้ารุ่นใหม่ ๆ หน่อย ความคม กำลังแยกขยายมันเหลือ ๆ ครับ ผมลองเอา Summilux 1.4/35 FLE edition 60 มาถ่ายที่ 60 MP แล้วเอาเข้า Lightroom เพื่อ Enhance ให้เป็น 120 MP จากนั้นจึงครอปมาให้เหลือ 16 MP ภาพยังถือว่าใช้ได้เลย (ถ้าโฟกัสเข้าตรงจุดที่ต้องการ)
Leica M11 + Leica Summilux 1.4/35 FLE edition 60 ที่ f8 (120MP-->24MP-->3MP)
14. คุณภาพของภาพ Leica M11 นั้นเรื่องความคมชัดคงไม่ต้องพูดถึงกันแล้วเพราะขึ้นอยู่กับเลนส์ที่เอามาใช้ละครับว่าไปได้ไกลแค่ไหน ส่วนเรื่องคาแรกเตอร์ และสีสันของภาพต้องมาพูดกันยาวหน่อย ลักษณะเด่นของ M11 ที่สังเกตได้ตั้งแต่เร่ิมใช้งานเลยคือ ภาพกลับมาอมเหลือง หลายสำนักกล่าวตรงกันว่าออกไปคล้าย typ(240) ไม่ได้ออกอมฟ้าเหมือน M10 ตรงนี้หลายคนชอบ หลายคนไม่ชอบ ผมใช้ SL2-S ด้วยจะพบว่าภาพจาก SL2-S จะเป็นแนวคล้าย M10 คือภาพดูสมัยใหม่เหมือนกล้องยี่ห้ออื่น ๆ คือติดอมฟ้านิด ๆ ภาพมันสวยครับ ถ่ายอะไรก็เด้งดีไปหมด แต่ถ้าภาพออกมาทางเหลืองได้หน่อยภาพจะดูสีสันเป็นธรรมชาติมากขึ้น อย่างไรก็ตามส่วนตัวผมว่า M11 บางทีก็เหลืองมากไป๊ เหลืองจนแตกต่างจากภาพจริง ๆ ที่ตาเห็นพอสมควร (แล้วแต่เลนส์ที่ใช้ด้วยนะครับ) แล้วมันก็ปรับอะไรเกี่ยวกับโทนพวกนี้ไม่ได้เสียด้วย จะไปปรับชดเชยที่ AWB ก็ไม่มี ตรงนี้ต้องไปลองถ่ายกันดูเองครับว่าชอบหรือไม่ชอบ ส่วนตัวผมว่า M60 สุดที่รักยังให้ภาพที่สีสันถูกใจผมมากกว่า ทั้งนี้ผมยังไม่ได้ลอง Leica M11 กับเลนส์หลากหลายรุ่นนะครับ มีอยู่แค่ไหนก็ลองไปแค่นั้น เข้าใจว่าคาแรกเตอร์ตรงนี้ก็คงปรับเปลี่ยนไปตามเลนส์พอควร นอกจากนี้เท่าที่ลองใช้มายังพบอาการ WB แกว่ง ๆ อยู่บ้างเฉพาะเวลาถ่ายภาพภายในอาคาร แต่ถ้าถ่ายในแสงธรรมชาติ WB ก็ตรงกันเป๊ะทุกภาพ เรียบร้อยดีไม่มีปัญหาอะไร
Leica M11 + Leica Summarit 2.5/35
Leica M11 + Leica Summilux 1.4/35 FLE edition 60
15. Dynamic range เป็นอีกส่วนหนึ่งที่น่าประทับใจเช่นเคย ถ้าสายแต่งภาพทำรูป กล้องไลก้ารุ่นหลังจาก M(240) มาแล้วผมว่าเล่นได้หมดนะครับ RAW file ของมันเก็บรายละเอียดได้ดี ดึงภาพขึ้นมาเยอะ ๆ สีไม่เพี้ยน M10 M11 ใช้ได้หมดครับ อย่างที่เคยรีวิวไว้เรื่อง M10 ว่าดึงภาพขึ้นมา 5 stop ยังให้สีสันที่ตรงเป๊ะ ไม่เพี้ยน ไม่มีสีเขียวปน ไม่มี banding M11 ก็ยิ่งต้องทำได้ดีกว่า เรียกว่าถ้าเป็นคนขี้เกียจถ่ายและขยันทำภาพก็กดมั่ว ๆ มาได้เลยโฟกัสเข้าเป็นพอ แล้วค่อยมาแก้ไขในคอมพ์เอา
Leica M11 + Voigtlander Nokton 1.2/50 (ซ้าย), Leica M11 + Leica Summilux 1.4/35 FLE edition 60 (ขวา)
Leica M11 + Leica Summilux 1.4/35 FLE edition 60 จะดึงขึ้นมาให้ยับแบบนี้เลยก็ทำได้สบาย สีไม่เพี้ยนครับ
16. Leica M11 สามารถเลือกได้อิสระว่าจะถ่าย DNG ขนาด L M S และ/หรือ JPG ขนาด L M S โดยเป็นการใช้พื้นที่เต็มทั้งเซนเซอร์ ได้ภาพสุดยอดเหมือนเดิม ไม่มีการครอปใด ๆ ตรงจุดนี้ไลก้าทำการบ้านมาดีมาก ยืดหยุ่นดีมาก ๆ อย่างไรก็ตามคาแรกเตอร์ที่ได้จากไฟล์ DNG และ JPG มีความแตกต่างกันพอควร บางภาพ JPG อาจเข้าทางมากกว่า เพราะได้ความเปรียบต่างสูง กล้องจัดการความคมชัดให้ได้มากขึ้นกว่า DNG ด้วย ในขณะที่ภาพจาก DNG จะไล่สีสันได้ธรรมชาติมากกว่า สีสดกว่า (อาจดีและไม่ดีแล้วแต่สถานการณ์) ไล่โทนผิวคนได้ดีกว่า ความคมไปตามธรรมชาติ อันนี้ลองเอาไปเล่นกันดูครับ สไตล์ใครสไตล์มัน
Leica M11 + Voigtlander Nokton 1.2/50 ซ้าย DNG ขวา JPG
17. Leica M11 ปรับ ISO ได้สูงสุดที่ 50000 ครับ การจัดการจุดรบกวนที่ ISO สูง ๆ ผมว่ายังสู้ Leica SL2-S ไม่ได้ ตัวนั้นจัดการจุดรบกวนได้ดีกว่าครับ อาจเป็นเพราะเซนเซอร์ที่มีความละเอียดมากถึง 60 MP ระยะระหว่าง Photodiode จึงน้อยและมีความร้อนสะสมในระบบมากกว่า SL2-S ที่มีความละเอียดที่ 24 MP ครับ ลองสังเกตที่ ISO50000 ครับ จะเห็น banding อยู่เหมือนกัน และจุดสีรบกวนเป็นจำนวนมากเลยครับ แตกต่างจาก M10 ที่เคยลองที่ ISO50000 จุดรบกวนเยอะแต่ไม่มีสีของจุดรบกวนเข้ามาเลยทุกจุดเป็นสีขาวหมด ผมว่าตรงนี้ M10 ทำได้ดีกว่ามากนะครับ ใครมีสองตัวลองถ่ายเทียบกันดู
Leica M11 + Leica Summarit 2.5/35 ไล่ตั้งแต่ ISO 64 200 400 800 1600 3200 6400 12500 25000 50000
18. ดังนั้น การเลือกคุณภาพของภาพให้ขนาดเล็กลงจากขนาด L (60MP) เป็น M(36MP) และ S(16MP) ไฟล์ภาพจะต้องจัดการจุดรบกวนได้อย่างสุดยอดแน่นนอน... เสียใจด้วยครับ จุดรบกวนยังคงเท่าเดิม ถ้าซอฟแวร์ฉลาดมากกว่านี้มันควรจะดีกว่านี้ได้มากครับ น่าเสียดาย ๆ
Leica M11 + Leica Summarit 2.5/35 tested with ISO25000 form image size L, M, S Cropping to the same image size, The noise issue is almost unchanged.
19. ประเด็นที่พบแล้วน่ากังวลสำหรับคุณภาพของกล้อง Leica M11 คือ เวลานำไปถ่ายในแสงที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะงานกลางคืนที่มีการใช้แสงสีน้ำเงิน พบว่าภาพใช้ไม่ได้เลยครับ เพราะสีน้ำเงินมันจะออกมาเป็นปื้น ๆ ไม่สามารถไล่โทนเกลี่ยไปกับแสงสีอื่น ๆ ได้ อันนี้ผมว่าเรื่องใหญ่นะครับ และไม่ค่อยเห็นใครพูดถึงกันถ่ายจาก DNG ก็เป็น JPG ก็เป็นครับ โดยอาการภาพเจ๊งแบบนี้จะออกฤทธิ์กับภาพ JPG มากกว่าครับ ราคากล้องเท่านี้เจอภาพแบบนี้มีขนคอลุกซู่นะครับ ใครมีกล้องตัวนี้ลองเอาไปถ่ายกันดู ได้ผลอย่างไรเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ
Leica M11 + Voigtlander Nokton 1.2/50 DNG (left) JPG (right) the blue color is ...
20. อีกประเด็นที่พบใน M11 แล้วน่ารำคาญใจคือกล้องมีอาการ Shutter shock ด้วยนะครับ หากถ่ายภาพในโหมดชัตเตอร์กลไกช่วงความไวชัตเตอร์ประมาณ 1/60-1/80 ภาพจะไม่คมกริ๊บ เหมือนมีการสั่นไหวหน่อย ๆ ซึ่งเกิดจากแรงสั่นสะเทือนของการเปิดม่านชัตเตอร์ชุดแรก (First curtain) กล้องสมัยก่อนที่ลองเล่นบางตัวก็เป็นนะครับ เช่น Leica SL (601) แต่ตอนใช้ SL2-S ไม่พบปัญหาดังกล่าวเพราะน่าจะมีระบบที่ใช้แต่ม่านชัตเตอร์ชุดหลังได้ ก็เลยวางใจไม่คิดว่าจะมาเจอใน M11 ซึ่งเป็นกล้องราคาแพงม๊าก แต่มาเจอกรณีแบบนี้ก็ต้องถ่ายให้ระวัง ๆ กันหน่อยละครับ เข้าใจว่า M11 ใช้เซนเซอร์ในการวัดแสงตลอดเวลา (เวลาเปิดเครื่องถึงแม้ว่าจะใช้การถ่ายด้วย RF แต่จะได้ยินเสียงเปิดม่านเสมือนถ่ายด้วย LV หรือ EVF ทุกครั้ง) เพราะฉะนั้นตอนถ่ายภาพด้วยระบบชัตเตอร์แบบกลไก มันจะต้องมีการปิด-เปิด-ปิด-เปิดม่านชัตเตอร์เพื่อกลับมาสู่สภาพเดิมทำให้เกิดการสั่นน้อย ๆ ที่เซนเซอร์ได้ในบางความไวชัตเตอร์ที่เลือกใช้ ตรงนี้เป็นจุดที่กล้องยี่ห้อต่าง ๆ ไม่เคยออกมาพูดถึง นักรีวิวต่าง ๆ ไม่เคยพูดถึงกันมาแต่ไหนแต่ไรครับ ตรงนี้ขออนุญาตยังไม่ฟันธง เพราะบางกรณีก็ไม่เกิด บางกรณีก็เกิดที่ความไวชัตเตอร์ดังกล่าว ต้องไปลองดูกันเอาเองนะครับ
21. ส่วนใครจะเลี่ยงไปใช้ชัตเตอร์ไฟฟ้าอย่างเดียวก็ควรระวังเรื่องการถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนไวเร็ว และการถ่ายภาพในอาคารกันไว้นิดนึงครับ ข้อจำกัดคลาสสิกของมันยังมีอยู่ แต่การใช้ชัตเตอร์ไฟฟ้านี่ ถ่ายทีคนถ่ายยังไม่รู้ตัวเลยครับว่ากล้องถ่ายไปแล้ว มันเงียบกริบไม่ได้ยินเสียงอะไรทั้งนั้น แค่กดชัตเตอร์ลงไปแล้วกล้องบันทึกภาพ ไม่เหลือฟิลลิ่งอะไรทั้งสิ้น
22. เรื่องชัตเตอร์กลไกกับชัตเตอร์ไฟฟ้า เคยเห็นคนรีวิวเรื่องนี้ว่าโบเก้ที่ได้มีคุณภาพแตกต่างกัน ผมมาลองเล่นกับ M11 นี้พบว่าคุณภาพของภาพที่ได้ไม่แตกต่างกันนะครับ แต่ส่วนที่ถ่ายด้วยชัตเตอร์ไฟฟ้าจะติด over exposure มากว่าสัก 0.3EV
Leica M11 + Leica Summilux 1.4/35 FLE edition 60 ซ้ายชัตเตอร์กลไก ขวาชัตเตอร์ไฟฟ้า
23. ข้อดีของชัตเตอร์ไฟฟ้าอย่างที่ทราบกันคือมันทำความไวชัตเตอร์ไปได้สูงถึง 1/16000 วินาที สายเปิดกว้างกลางแดดมีเฮครับ
24. Leica Visoflex ตัวใหม่ดีไหม? ตรงนี้ต้องขออภัยด้วยเพราะไม่คิดจะซื้อเลยไม่ได้ลองครับ นิยมถ่ายแบบ RF มากกว่า ส่วนเลนส์รุ่นใหม่ ๆ ที่ถ่ายใกล้ได้ก็ยังไม่มีครับ ดังนั้นเอาไว้ค่อยว่ากันวันหลัง ^_^
25. กล้องไลก้า M11 เป็นรุ่นที่ถึงแม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกจะละม้ายกับ M10 มาก ๆ แต่ภายในพัฒนาอะไรใหม่ ๆ มาเยอะนะครับ มีความเป็นสมัยใหม่ ยืดหยุ่น ผสมผสานกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เยอะมาก โดยยังคงอารมณ์การถ่ายภาพแบบ RF ได้อย่างครบถ้วนลงตัว

สรุปว่าจะซัดมาเลยดีไหมกับ Leica M11 ตอบกำปั้นทุบดินว่าสุดท้ายต้องตัดสินใจกันเอาเองครับ สำหรับบุคคลทั่วไปกล้องราคากว่าสามแสน ราคามันโอเวอร์ไปมาก ๆ สำหรับกล้องที่จะเอามาถ่ายภาพเฉย ๆ คนจะซื้อต้องเข้าใจแบรนด์ เข้าใจคุณค่าของมันครับ แถมกล้องพวกนี้ไม่ได้ซื้อมาเพื่อสะสม ไม่ได้ซื้อมาเพื่อโชว์ มันต้องซื้อมาใช้เท่านั้นเพราะมูลค่ากล้องดิจิทัลมันร่วงลงเรื่อย ๆ ครับ ส่วนสายลึกกันมาหน่อยผมว่าภาพ 60 MP ที่ M11 ให้ได้ก็ไม่ใช่ประเด็นในการตัดสินใจ หากแต่เป็นคาแรกเตอร์ของภาพที่กล้องให้ได้ต่างหาก ตรงนี้ อยู่ที่รสนิยม อยู่เลนส์ประจำที่ตัวเองใช้ว่ามันเข้ากับกล้องดีไหม เมื่อใช้กับกล้องตัวนี้แล้วให้ภาพออกมาลักษณะเป็นอย่างไร ออกโทนอุ่น โทนเย็น ลักษณะของภาพโอเคไหม เพราะเลนส์ไลก้ามันดีทุกตัว แต่มันดันไม่เหมือนกันสักตัวนี่แหละครับ ทำให้มันมีเสน่ห์ กล้องดิจิทัลเองก็ด้วย คาแรกเตอร์ไม่เหมือนกันสักตัว ใครมี M(typ240) แล้วเมนบอร์ดเจ๊ง มาเอาตัวนี้ไปลองดูครับ ส่วนใครไม่ซีเรียสเรื่องคาแรกเตอร์ภาพตรงนี้แต่อยากเล่นไลก้า ตอนนี้ M10 ราคาน่ารักมาก มีหลากหลายรุ่นย่อยทั้งลิมิเตดและไม่ลิมิเตดให้เลือกครับ คุ้มค่าที่สุดแล้ว ณ เวลานี้ ส่วนใครสอย M11 มาก็ใช้มันให้เต็มที่ เสพความงาม ซึมซับความรู้สึกจากมันให้เต็มที่ อารมณ์ในการถ่ายภาพไม่ได้ด้อยไปกว่ารุ่นอื่น ๆ เลยครับ แล้วเดี๋ยวมันออกรุ่น Limited เมื่อไร เจอกันครับ... สวัสดี
เจอปัญหากล้องค้างบ้างไหมครับ