Nikon Zf Review
- Paron Chatakul
- Oct 27, 2023
- 3 min read
Updated: Apr 3
“มันไม่ได้มีดีแค่หน้าตา”

สวัสดีครับ เรื่องกล้องกระแสแรง Nikon Zf ไม่ต้องพูดเรื่องหน้าตากายภาพเพราะพูดกันไปแล้วในตอนก่อน (https://www.paronya.com/single-post/nikon-zf-hands-on) คราวนี้มาพูดเรื่องการใช้งานกันเลยดีกว่านะครับ บอกแล้วว่าเล่นกล้องรุ่นนี้ภายใน impact กว่าหน้าตาภายนอกมากครับ พยายามจะออกรีวิวมาให้เพื่อนพี่น้องได้อ่านกันก่อนที่กล้องล็อตถัด ๆ ไปจะมา เผื่อเป็นข้อมูลให้ตัดสินใจจับจองกัน หรือจะข้ามมันไป

Nikon Zf + Nikkor 85 f1.8S
ส่วนตัวผมเองห่างหายจากกล้องจำพวกนี้มานาน Nikon ที่เคยใช้ก็เช่น F4 F80 D100 D700 D800 (FM2 เจ้าของต้นแบบหน้าตา Zf นั้นไม่เคยใช้ เคยแค่ยืมเพื่อนมาถ่ายม้วนเดียวเท่านั้น) พอกลับมาเจอกล้องสมัยนี้ใช้อะไรก็ดีไปหมด ฟังก์ชันทุกอย่างมันเหมือนว่าเกินกว่าการใช้งานที่เราเคยต้องการไปแล้ว และต้องปรับตัวกับรูปแบบการใช้งานใหม่ ๆ อีกหน่อย เรื่องวิดีโอไม่ต้องพูดถึงนะครับ ผมไม่ถ่าย ฮ่ะ ๆ ๆ ความสุขส่วนตัวของผมมันอยู่ที่ภาพนิ่งแค่นั้นแหละครับ กล้องเมื่อ 20 ปีที่แล้วเราก็ถ่ายมันอย่างมีความสุขได้ หวังว่ากล้องสมัยนี้ก็ต้องทำได้เหมือนกันแหละเนอะ และขอออกตัวก่อนเลยว่ารีวิวนี้เป็นความเห็นส่วนตัวล้วน ๆ นะครับ จากความเห็นของผู้ใช้งานคนหนึ่งที่อยากแชร์ให้เพื่อนพี่น้องครับ... มาว่ากันเลย

กล้องสมัยนี้ เมนูมันซับซ้อนมาก ฟังก์ชันเยอะมาก แต่ก็ยังดีที่สามารถปรับแต่งปุ่มต่าง ๆ ให้เข้ากับการใช้งานของเราได้มากพอสมควร เมื่อปรับแต่งแล้ว ใช้ไปสักพักให้คุ้นเคยเข้ามือ มันก็ใช้ง่ายครับ
Nikon Zf + Leica Summilux 35 f1.4 FLE edition 60 / Voigtlander Nokton 50 f1.2
งานหลัก ๆ อย่างนึงของกล้องดิจิทัลคือการควบคุม ISO เพื่อให้ได้ความไวชัตเตอร์อย่างที่ต้องการ การที่มีแป้นหมุนปรับ ISO แบบกายภาพด้านบนกล้องนี่เป็นสิ่งที่ดีมากครับ (ต้องชมอีกทีเพราะหมุนได้ครบทุก step ดีกว่าไลก้าทำใน M10 M11 มาก ๆ) แต่ข้อเสียของมันก็คือ มันปรับเลือกออโต้ กับแมนวล จากปุ่มนี้ไม่ได้น่ะสิ ต้องเข้าไปตั้งในเมนู เหมือน Zfc เลย ตรงนี้ควรปรับปรุงนะครับ เพราะจำได้ว่าสมัย Zfc ก็อ่านเจอคนบ่นเรื่องนี้กันเยอะพอสมควร ใครชอบสลับไปสลับมาก็ต้องวุ่นวายนิดนึงนะครับ อย่างไรก็ตาม ๆ มันยังมีความง่ายที่ช่วยเราได้ซ่อนอยู่ครับครับ หากผู้ใช้งานตั้งช่วง AUTO-ISO ไว้ เช่น 100-3200 หากหมุนปุ่มควบคุม ISO ด้านบนอยู่ในช่วงที่ตั้งไว้ มันจะเป็น AUTO-ISO แต่หากหมุนปุ่มควบคุมไปเกินช่วงที่ตั้งไว้ เช่น 12800 64000 มันจะ override เป็นค่า ISO ตามที่เราตั้งทันที โดยไม่ต้องไปจัดการในเมนูแต่อย่างไร แต่ ๆ ๆ ๆ ๆ ไม่มีผลในช่วง ISO ต่ำนะครับ เพราะ AUTO-ISO จะไม่มีให้ตั้ง lower limit ครับ ให้ตั้งแค่ maximum AUTO-ISO ดั้งนั้นจึง override ได้แต่ ISO ที่สูงกว่าที่ตั้งไว้เป็น AUTO ครับผม สะดวกระดับนึงเวลาถ่ายในที่มืดมาก ๆ ในบางกรณี แต่ถ้าจะควบคุม ISO ต่ำเพื่อลากชัตเตอร์ ต้องไปปิด AUTO ในเมนูอยู่ดีครับ

Nikon Zf + Voigtlander Nokton 50 f1.2
ด้านคุณภาพ ISO ถึงแม้ว่าจะดันไปได้ถึง 64,000 และขยายไปได้ถึง 204,800 แต่เรื่อง noise เนี่ย ผมเป็นคนนึงที่รู้สึกเฉย ๆ ไม่ค่อยต่างกับกล้องยี่ห้ออื่นที่เคยเล่นเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วที่ใดนัก ก็ถือว่าเพียงพอ-พอเพียงกับการถ่ายภาพครับ ไม่ได้โดดเด่น
การชดเชยแสง ผมชอบแบบ Zf นี่แหละ มีปุ่มแยกต่างหาก เราเห็นได้ตลอดเวลาเลยว่าตอนนี้ชดเชยอยู่มากน้อยเท่าไร ไม่ต้องดูที่จออย่างเดียว ชอบ ๆ

Nikon Zf + Nikkor 85 f1.8S @ f8 with 1.6 sec shutter speed
กันสั่นในตัวกล้องเคลมว่าได้สูงถึง 8 stop ผมวัดเรื่องนี้กับเขาไม่เป็นหรอกครับ แต่ลองตั้งอกตั้งใจเอาศอกวางบนโต๊ะแล้วถ่าย ความไวชัตเตอร์ 1.6 วินาที มันก็เอาอยู่นะ คาดว่าถ้าถ่ายน้ำตกแล้วไม่ได้พกขาตั้งกล้องลากชัตเตอร์สัก 1/8 1/15 น่าจะเอามือถือไหวครับ อย่างไรก็ตามกันสั่นสำหรับการถ่ายภาพนิ่งผมค่อนข้างเฉย ๆ เพราะบางทีส่วนตัวผมหวังกับความไวชัตเตอร์เพื่อหยุดวัตถุมากกว่า ดัน ISO เอา ลุย ๆ ไป แต่การกันสั่นผมว่าพวกสายวิดีโอน่าจะได้ใช้ประโยชน์มาก ผมเองไม่ได้ลองนะครับ ไม่ได้ถ่ายวิดีโอครับ โฆษณาแถมให้อีกหน่อยว่าการกันสั่นของ Zf นี้ สามารถชดเชยการกันสั่นได้ตามจุดที่เราโฟกัสด้วยนะครับ เขาว่ากันว่ามันจะดีขึ้นไปอีก แต่เราเอามาถ่ายจริง ๆ เราก็ไม่รู้หรอกครับ
Nikon Zf + Voigtlander Heliar 50 f3.5
สำหรับคนที่ว่างเว้นจาก DSLR หันไปคบกับ Range finder แมนวลมานาน กลับมารอบนี้เมากับออโต้โฟกัสเลยครับ จุดโฟกัสมันมีเป็นร้อย ๆ และที่สำคัญคือเร็วมาก ๆ คิดถึงสมัยแรกที่ใช้ Olympus E-1 มีจุดโฟกัสเพียง 3 จุด แล้วเราก็ใช้จุดกลางจุดเดียวเสมอ เดี๋ยวนี้มีเพียบ จับตาคน หัวคน ตาสัตว์ ถ้าในสภาพแวดล้อมที่ไม่วุ่นวายนัก Zf สามารถทำงานได้อย่างไร้ที่ติ แต่ในสภาพที่มีความวุ่นวาย เช่น คนในเฟรมเยอะ ๆ มันอาจจับตาไว้ได้หลายคน และไปโฟกัสคนที่เราไม่ได้ตั้งใจได้ อย่างไรก็ตามเราสามารถตั้ง custom control กดปุ่มสลับตาคนที่ต้องการโฟกัสได้ ซึ่งก็ถือว่าใช้งานได้ดีครับ
ออโต้โฟกัสของ Zf เหมือนจะเอา Z8 Z9 มายัดใส่เลยทีเดียวครับ ฟีเจอร์ต่าง ๆ เท่าที่เคยได้ลอง Z9 มานิด ๆ หน่อย ๆ ผมว่าเหมือนกันครับ และถ้าเอา Zf ไปเทียบกับ Z6ii แล้ว ระบบออโต้โฟกัสมันเร็วและแม่นกว่ามากจริง ๆ การหาโฟกัสในที่มืดก็ทำได้ดีกว่ามาก ๆ ครับ เรียกได้ว่าออโต้โฟกัสก้าวกระโดดไปอีกขั้นนึงเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามการควบคุมโฟกัสโดยเฉพาะระบบ Tracking แตกต่างจาก Z6ii อยู่บ้าง ผมไม่สามารถใช้ Tracking ในระบบ AFS ได้เหมือนใน Z6ii ต้องเปิดระบบโฟกัสเป็น AFC เท่านั้นจึงจะใช้ Tracking ได้ครับ มันก็ดูสมเหตุสมผลดีแหละ แค่ตอนนี้มันชินกับของเดิมที่เคยตั้งค่าไว้เท่านั้นเอง
Nikon Zf + Voigtlander Nokton 50 f1.2
สำหรับสาย Retro ที่อยากเอาเลนส์ MF มาใช้กล้องเองก็มีระบบ peaking รองรับ (มีทุกรุ่นทุกยี่ห้อมานานแล้ว) แต่จะหวังพึ่ง peak ในช่องมองปกติไม่ได้นะครับ ภาพหลุดโฟกัสได้ง่าย ๆ ต้องซูมเข้าไป peak ถึงจะแม่น แนะนำให้ custom control ตั้งปุ่ม Zoom เอาไว้กดเวลาใช้เลนส์ MF ครับ (แต่พอจะตั้งค่าต่าง ๆ เพื่อแยกการใช้งานแบบนี้ จะคิดถึง U1 U2 U3 ที่มีให้เสมอในกล้องนิคอนรุ่นอื่น ๆ ยกเว้น Zf ปั๊ดโธ่ววววว) จะตั้งเมนูเพื่อเลือก non CPU lens data เอาไว้ใน i menu ก็ไม่มีด้วย อันนี้หงุดหงิดเล็ก ๆ ต้องไปตั้งในปุ่ม fn แล้วหมุน Dial เลือกเอา ซึ่งเรามักจะเอาไว้ตั้งเป็นอย่างอื่นแล้ว เพราะปุ่ม fn ด้านหน้าของกล้องมีเพียงแค่ปุ่มเดียว -_-”
เรื่องการจัดเก็บข้อมูล คราวนี้ Nikon มาแปลก ใช้ SD + Micro SD card บางคนอาจจะโอเคกับ SD card เพราะใช้กันแพร่หลายและความเร็วก็ไม่ได้ขี้เหร่นัก แต่ส่วนตัวผมเสียดาย CF express type B เท่าที่ใช้ก่อนหน้านี้มันเร็วมาก ผมว่าจะพัฒนากล้องก็พัฒนาไปให้สุดเถอะครับ อย่าให้รูปแบบการจัดเก็บข้อมูลมาเป็นอุปสรรคในการพัฒนา เหมือนตัวก่อน ๆ หน้านี้ที่ต้องย้อนมาใส่ SD ช่องนึง อย่างไรก็ตามสำหรับ Zf กรณีนี้เข้าใจได้นะครับที่ต้องใช้ SD เพราะมันบาง ทำขนาดกล้องให้คลาสสิกลงตัวได้สวยงามครับ

Nikon Zf + Nikkor 24-120 f4S
สีสันของภาพที่ออกมาก็สไตล์ Nikon แหละครับ ไม่ต่างกับ Z6ii ที่ใช้สักเท่าไร ถ้าเอามาทดสอบเปรียบเทียบกันคงเห็นความแตกต่าง แต่ใช้ทีละตัวผมว่าไม่รู้สึกอะไรครับ ส่วนคาแรกเตอร์ภาพ ปกติ profile Standard คอนทราสก็หนักหนาอยู่แล้ว...ไม่ชอบ ต้องเอามาเปิด shadow ใน LR อีกสักหน่อย แต่ถ้าเจอ profile Landscape ยิ่งหนักเข้าไปอีก...ไม่ชอบมาก ๆ ส่วนตัวผมแทบไม่เคยใช้ แต่กลับชอบโปรไฟล์ Portrait เพราะมันเปิดส่วนมืดได้ดีกว่า แต่ profile Portrait ช่วงที่ผ่าน ๆ มามันทำสีอื่นผิดเพี้ยนไปหมด ใช้งานอะไรก็ลำบาก แต่คราวนี้ Zf มาพร้อมกับ Rich tone portrait ซึ่งผมชื่นชอบมากกว่า Portrait ปกติมาก สีสันสวยงามใช้งานได้ดี จนอยากจะใช้มันทุกสถานการณ์เสียด้วยซ้ำครับ

Leica M11 + Leica Summilux 35 f1.4 Steel rim re-issue

Nikon Zf + Leica Summilux 35 f1.4 Steel rim re-issue + Flat monochrome profile

Nikon Zf + Leica Summilux 35 f1.4 Steel rim re-issue + Monochrome profile
มาพูดถึงภาพขาว-ดำที่ได้จากกล้องตัวนี้กันสักหน่อย เพราะนิคอนกล้าที่ใส่สวิตช์ปรับเป็นโหมดขาวดำได้ทันทีมาให้ด้วย แสดงว่าต้องมีดีมาอวดแน่นอน โดยปกติแล้วผมไม่ชอบโทนขาวดำของกล้องยี่ห้อไหน ๆ เลยยกเว้นไลก้าประกบกับเลนส์บางตัวเท่านั้น โดยภาพขาวดำ(ปกติ) จากกล้องนิคอนมักจะให้ความเปรียบต่างสูงส่วนมืดมักจะจมหายไปหมด ไล่โทนได้ไม่ดี แต่มาคราวนี้พร้อมกับการเปิดตัว Zf นิคอนจัดสรรโปรไฟล์ใหม่คือ Flat Monochrome ที่ไล่โทนได้เนียน ภาพขาวดำเก็บโทนได้ครบ ๆ ถึงแม้ว่าจะไม่เตะตา แต่ดูสบายตา ดูได้นาน อย่างไรก็ตามจากการพูดคุยกับหลาย ๆ คนที่เล่นกล้องด้วยกันบ้างก็ว่ามันจืดไป ต้องเอามาปรับต่ออีกสักหน่อยนึงจึงจะสมบูรณ์ กรณีนี้เอาเป็นว่านิคอนทำการบ้านขาวดำมาดีมากแล้วครับ ผมว่าปรับ preset รอใน Lightroom เพิ่ม Contrast สักนิดนึงก็สวยมาก ๆ แล้วครับ
Nikon Zf + Nikkor 24-120 f4S / Nikon Zf + Leica Summilux 35 f1.4 FLE edition 60

Nikon Zf + Leica Summaron 35 f3.5

Nikon Zf + Leica Summaron 35 f3.5
เอ่ยถึง Lightroom ก็ต้องขอชมว่า Nikon ทำการบ้านมาเป็นอย่างดีเรื่อง Profile โดยมี Profile ต่าง ๆ ของ Zf ปรากฏใน Lightroom ให้ใช้งานได้ทันทีตั้งแต่วันที่กล้องออกวางจำหน่าย ไม่ต้องรอ แตกต่างจากบางยี่ห้อที่เคยต้องรอกันเป็นเดือน ๆ กว่าจะได้ใช้ profile ของกล้องใน Lightroom ครับ

Nikon Zf + Nikkor 14-30 f4S
สรุปว่า Zf เป็นกล้องที่ตัดสินใจยากนะครับ สำหรับคนที่กำลังจะหากล้อง Nikon สักตัว ผมเชียร์ว่าข้าม Z6ii แล้วมาตัวนี้เลยถึงมันจะแพงกว่าแต่ก็คุ้มค่ากว่าใช้ไปได้ยาว ๆ ไม่ต้องไปถึง Z8 Z9 ที่แพงกว่าสองเท่าก็ได้ ส่วนคนที่ถือ Z6ii อยู่จะย้ายมาไหม ต้องคิดกันเยอะหน่อยครับ จริงอยู่ที่ระบบการประมวลผลและการโฟกัสดีขึ้นมากแบบรู้สึกได้ แต่ Z6ii ก็ยังดีเพียงพอต่อการใช้งานโดยทั่วไปอยู่นะครับ ผลผลิตของภาพที่ออกมาก็อาจไม่ได้ดูแตกต่างกันมากนัก แต่โอกาสในการได้ภาพจะมีมากขึ้น ดังนั้นถ้ายังมีความสุขกับ Z6ii อยู่ก็ยังไม่ต้องมาก็ได้ครับ เอางบประมาณไปสมทบกับเลนส์ดี ๆ ไปก่อน เดี๋ยวมันก็จะมีรุ่นใหม่ ๆ ออกมาอีก แต่ถ้าวกกลับคิดถึงรูปลักษณ์ของกล้องด้วยแล้ว บอดี้หน้าตาคลาสสิกแบบนี้ Nikon ไม่ได้ทำออกมาบ่อย ๆ ถ้าจะมา Zf เลยก็สามารถถือใช้ไปได้ยาว ๆ ครับ... สวัสดี
Nikon Zf + Nikkor 180-600 f5-6.3

Nikon Zf + Nikkor 180-600 f5-6.3
ปล. Nikon Zf ยังมีอีกหลากหลายฟังก์ชั่น เช่น Focus shift, Pixel shift, Interval, Timelapse, HDR, Bracket, Multiple exposure, Starlight view ซึ่งเป็นฟังก์ชันที่นานน้านนนนใช้สักทีนึง หรือไม่ก็ไม่เคยได้ใช้เลย อย่างเช่นพวก Bracket (ถ่ายคร่อม) จริง ๆ มีมาตั้งแต่สมัยกล้องฟิล์ม แต่พอมาดิจิทัล มี RAW แล้วผมว่าอันนี้ไม่ค่อยจำเป็นแล้วก็ไม่เคยได้ใช้มันเลยครับ ส่วนฟังก์ชันใหม่ ๆ เช่น Pixel shift ที่สามารถถ่ายภาพมาหลายช็อตแล้วเอามารวมเป็นไฟล์ความละเอียดสูงได้ อันนี้น่าสนใจมาก แต่สารภาพว่ายังใช้ไม่เป็น ถ่ายมามันก็เป็นหลาย ๆ ไฟล์ ไม่รู้เอามารวมกันอย่างไร ใครใช้เป็นขอความกรุณาแนะนำด้วยจะขอบคุณมากครับ

Nikon Zf + Nikkor 24-120 f4S
Comments